เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 กรกฎาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,392
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,392
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพไปร่วมงานพิธีสามีจิกรรมพระเถระ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) มา ซึ่งพิธีกรรมนี้ในสมัยโบราณก็คือ ช่วงที่พระภิกษุจำพรรษา ต้องไปรายงานตัวกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า ปีนี้ตนเองอยู่ที่ไหน ? อยู่กับใคร ? ถ้าหากว่ามีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็จะได้รู้ว่าต้องไปช่วยที่ใด ? อย่างไรบ้าง ? คราวนี้เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้ ก็มีการเพิ่มเจ้าคณะปกครองเข้ามาด้วย อย่างที่ท่านทั้งหลายเมื่อวันอาสาฬบูชา ก็ได้ทำสามีจิกรรมกับกระผม/อาตมภาพไปแล้ว

    พิธีนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายต่อหลายประการด้วยกัน อันดับแรกก็คือได้สามัคคีธรรม เราต้องไม่ลืมพระพุทธพจน์ที่กล่าวว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความสามัคคีในหมู่คณะย่อมทำให้เกิดสุข

    ในเรื่องของพระพุทธศาสนาของเราไม่ใช่เรื่องของบุคคลคนเดียว แต่เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย เนื่องเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นนิกายใดก็ตาม ก็คือศาสนบุคคลในพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่ามีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน พระพุทธศาสนาของเราก็จะเจริญมากขึ้น

    ลำดับต่อไปก็คือเป็นการปฏิบัติตามภิกขุอปริหานิยธรรม ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าคำว่า อปริหานิยธรรม คือธรรมที่ปฏิบัติแล้วไม่มีวันเสื่อม มีทั้งในส่วนของพระภิกษุและฆราวาส โดยที่มีหมวดละ ๗ หัวข้อคล้ายคลึงกันมากหลายหมวดด้วยกัน แต่ว่าหมวดสุดท้ายคือสาราณียธรรมนั้นมีแค่ ๖ หัวข้อ

    การปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมนั้น ของพระภิกษุเรามีข้อหนึ่งที่ระบุไว้ชัดเจนว่า พระสงฆ์ผู้เป็นพระเถระ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก พึงฟังคำของท่านและน้อมนำไปปฏิบัติตามด้วยความเคารพ ก็แปลว่าสิ่งที่เราไปทำสามีจิกรรมและรับโอวาทจากพระเถระเจ้าคณะปกครอง โดยเฉพาะในเขตคณะสงฆ์ภาค ๑๔ นั้น เรามีที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค มีที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด น่าจะมากที่สุดในประเทศไทย

    เนื่องเพราะว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม - พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ นั้น นอกจากท่านจะมีความเคารพบรรดาเจ้าคณะปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ที่เกษียณอายุไปแล้ว ท่านยังเห็นประโยชน์ว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นผู้สั่งสมประสบการณ์ไว้มาก เป็นรัตตัญญูบุคคล จึงควรที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา และท่านก็ใช้งานที่ปรึกษาจริง ๆ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,392
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดาพระเถระเจ้าคณะปกครองที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ละท่านสั่งสมประสบการณ์มาอย่างต่ำ ๆ ก็ ๔๐ - ๕๐ ปี หลายท่านถ้าบวชตั้งแต่อายุครบบวชจนเกษียณอายุของพระก็เกิน ๖๐ ปี ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ถ้าไม่มีการถ่ายทอดต่อ ก็จะหมดไปกับตัวท่านเอง อย่างที่โบราณใช้คำว่า ของกินถ้าไม่กินก็เน่า เรื่องเล่าถ้าไม่เล่าก็ลืม

    ข้อต่อไปก็คือเป็นการปฏิบัติตามสาราณียธรรม คือธรรมอันยังให้บุคคลระลึกถึงกัน ก็คือจะทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา จะคิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา ในเมื่อมีความเมตตารักใคร่สามัคคีกัน มีอะไรผิดพลาดก็ตักเตือนกัน อะไรที่ทำแล้วถูกต้องดีงามก็ชมเชยกัน บรรดาผู้น้อยก็ย่อมมีกำลังใจที่อยากจะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะว่าผู้ใหญ่เห็นคุณค่าเห็นความสามารถ

    แล้วยังเป็นการปฏิบัติตามวุฒิธรรม ๔ ประการอีก โดยเฉพาะในส่วนของสัปปุริสูปสังเสวะ การคบหาสัตบุรุษ ก็คือผู้รู้ และสัทธัมมัสสวนะ คือรับฟังธรรมด้วยความเคารพ โยนิโสมนสิการ ตรึกตรองด้วยความแยบคายแล้ว ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็คือนำมาปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรมนั้น ๆ นี่กล่าวเอาเฉพาะในส่วนที่ชัดเจนที่สุด ว่าพิธีสามีจิกรรมของคณะสงฆ์นั้นตรงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง

    โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ของเราเคารพกันด้วยพรรษา ไม่ได้เคารพกันที่ยศศักดิ์อัครฐานใด ๆ ทั้งสิ้น
    ในเรื่องของสมณศักดิ์เป็นพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้เพื่อความสะดวกในการทำงานคณะสงฆ์ ในการปฏิบัติภาระธุระในพระพุทธศาสนาแทนพระองค์ท่าน แต่ว่าพระเราก็ยังคงเคารพกันด้วยอายุพรรษาเป็นหลัก เราจะเห็นว่าพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง รูปปัจจุบัน ถ้าเจอพระเถระที่อายุกาลพรรษามากกว่า ท่านจะกราบก่อนทุกครั้ง จะไม่มีการไปนั่งยืดว่าข้าเป็นสมเด็จพระราชาคณะ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,392
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนา สืบทอดกันมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม ถ้าหากว่าเอาตามศัพท์สมัยใหม่ก็คือเป็น "วัฒนธรรมองค์กร" อย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าเป็นองค์กรพระพุทธศาสนาเท่านั้น แล้วเป็นองค์กรที่มหัศจรรย์มาก เพราะว่าองค์กรนี้บริหารด้วยบริขาร ๘ เท่านั้น ก็คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร ประคดเอว หม้อกรองน้ำ มีดโกน เข็มและด้าย ใช้งบประมาณเพียงน้อยนิด แต่บริหารองค์กรประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่มาก เป็นองค์กรที่ยืนยาวมา ๒,๕๖๐ กว่าปีแล้ว..!

    ดังนั้น..ในส่วนของความดีความงามในพระพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ อะไรที่ดีงามเราก็รักษาของเก่าไว้ อะไรที่สามารถปรับปรุงเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เราก็ปรับปรุงโดยไม่ให้เสียแก่นแท้ ถ้าทำแบบนี้ พระพุทธศาสนาของเราก็จะทันสมัยและเจริญรุ่งเรืองได้

    อย่างที่ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าปัจจุบันนี้มีการเผยแผ่ธรรมในสารพัดวิธีตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ มีทั้งออกเป็นรายวัน ออกเป็นรายวันพระ หรือว่าออกทุกวัน เพียงแต่ว่าเราท่านทั้งหลาย อย่างน้อยต้องมีความรู้เก่าที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน หรือว่าศึกษาตามพระไตรปิฎกมาในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายกล่าวถึง และสามารถหาได้ในสื่อโซเชียลต่าง ๆ อย่างง่ายดายนั้น อะไรเป็นธรรมแท้ อะไรเป็นสัทธรรมปฏิรูป

    ก็แปลว่าการที่เราจะแยกแยะของแท้ออกจากของเทียมได้ เราต้องมีพื้นฐานในระดับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่ถึงเวลาแล้วต้องสามารถแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาได้ ใครมีอะไรสงสัย ข้องใจ ต้องสามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ จึงกลายเป็นภาระของพุทธบริษัททั้ง ๔ คือภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งปัจจุบันนี้อนุโลมเอาแม่ชีเข้าไปแทน อุบาสก อุบาสิกา ต้องตั้งหน้าตั้งตาศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เกิดผลอย่างแท้จริง
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,669
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,552
    ค่าพลัง:
    +26,392
    ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาในยมกปาฏิหาริย์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์ จะเห็นว่าบรรดาพระอัครสาวกก็ดี พระมหาสาวกก็ดี ปกติสาวกก็ดี ทั้งภิกษุและภิกษุณีขออาสาแสดงแทน พระองค์ไม่อนุญาต สามเณรสามเณรีที่ได้อภิญญา ๕ อภิญญา ๖ ขอแสดงแทน พระองค์ก็ไม่อนุญาต อุบาสกอุบาสิกาที่ได้อภิญญา ๕ อภิญญา ๖ ขอแสดงแทน พระองค์ก็ไม่อนุญาต เพราะว่ายมกปาฏิหาริย์ นั้นเป็นสิ่งเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    ในเมื่อสมัยโน้นไม่ว่าจะเป็นพระเถระ
    พระมัชฌิมะ พระนวกะ สามเณรสามเณรีและญาติโยมทั้งหลาย ต่างสามารถรับภาระธุระในพระพุทธศาสนา อาสาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนได้ เราท่านทั้งหลายต้องมาตรึกตรองว่า ในปัจจุบันนี้ เรามีความสามารถสักส่วนเสี้ยวของคนโบราณหรือไม่ ? ควรที่จะเร่งรัดตนเองให้มากยิ่งกว่านี้หรือไม่ ? ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะเป็นแค่ทัพพีที่คาหม้อแกงอยู่ กี่ปีกี่ชาติก็ไม่รู้รสว่าแกงนั้นรสชาติเป็นอย่างไร ? เพราะว่าไม่เคยเข้าถึงวิมุติรสของพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...