เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 พฤษภาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 20240529.jpg
      20240529.jpg
      ขนาดไฟล์:
      252.8 KB
      เปิดดู:
      63
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ ๑ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมในงานทำบุญ ๑๐๓ ปีชาตกาล พระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี Ph.D.) ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รูปที่ ๔ โดยที่มีพระคุณพระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, ป.ธ. ๙) ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปปัจจุบัน เป็นประธาน

    งานต่าง ๆ นั้น ก็ดำเนินไปตามพิธีกรรมพิธีการทางสงฆ์ แต่ว่าในส่วนสำคัญก็คือ ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิการบดีรูปปัจจุบันได้กล่าวสัมโมทนียกถาว่า พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอธิการบดีรูปที่ ๔ หรือที่หลายท่านเรียกกันว่า "ท่านเจ้าคุณอาจารย์นคร" นั้น ท่านมารับภาระเป็นองค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วงที่ยากลำบาก คำว่ายากลำบากในสมัยนั้นก็คือ ถ้าหากว่ากล่าวถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว คนในยุคนั้นก็จะเอาไปผูกกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทางมหาวิทยาลัยช่วงนั้นจึงแทบจะไม่มีใครให้การสนับสนุนเลย นอกจากบรรดาหน่วยกล้าตายที่ลงไปทำงานแค่ไม่กี่คน บุคคลที่เห็นว่าตนเองมีอนาคต มีความก้าวหน้าทางคณะสงฆ์ได้ ก็จะหลีกหนีไปเพื่ออนาคตของตนเอง แต่ว่า "ท่านเจ้าคุณอาจารย์นคร" ได้เอาตัวลงมาทุ่มเท จนกระทั่งสามารถที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น เกิดเครือข่ายต่างประเทศขึ้นมา แล้วก็มีครูบาอาจารย์ประจำสาขาวิชาต่าง ๆ ได้จนครบถ้วนสมบูรณ์

    ในส่วนนี้ท่านเจ้าคุณอธิการบดีรูปปัจจุบันท่านได้กล่าวว่า หลวงพ่ออธิการบดีรูปที่ ๔ หรือ
    "ท่านเจ้าคุณอาจารย์นคร" นั้น ท่านประกอบไปด้วยสิกขาสาชีวะสะมาปันโน และอาจาระโคจะระสัมปันโน ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่า อาจาระโคจะระสัมปันโนนั้น คือบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยอาจาระ คือความประพฤติที่ดีงาม และโคจระ สถานที่ไปอันไม่เป็นที่ตำหนิของบุคคลอื่น

    ในส่วนนี้ลูกศิษย์บางรูปของท่านก็ยังถือปฏิบัติสืบมา อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่ามีบุคคลไปกับลูกศิษย์รูปนี้ แล้วถึงเวลาแวะร้านสะดวกซื้อ จะซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้มาฉัน แม้ว่าเป็นสิ่งที่ฉันได้ในเวลานั้น แต่ว่าลูกศิษย์รูปนี้ก็จะตำหนิว่ากล่าวทุกครั้งว่า "เป็นสถานที่อโคจร ไม่สมควรที่พระภิกษุสามเณรจะเข้าไป ให้ไหว้วานลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาส หรือว่าคนขับรถเข้าไปจะดีกว่า"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ตรงจุดนี้กระผม/อาตมภาพนั้นถือว่าโชคดี เนื่องเพราะว่าถึงเวลา ก็รบกวนให้พลขับเข้าไปซื้อหาอาหารมาฉันในระหว่างเดินทาง โดยที่ตนเองไม่พยายามที่จะเฉียดใกล้เข้าไป ก็ถือว่ารอดตัวไปได้

    เนื่องเพราะว่าอโคจรสถาน คือ สถานที่ซึ่งไม่สมควรไปของพระภิกษุสามเณรนั้น ในปัจจุบันนี้มีมากขึ้น ก็คือเป็นสถานที่ที่ทำให้คนเข้าใจผิดถึงอาจาระ คือ ความประพฤติปฏิบัติส่วนตัวของพระภิกษุสามเณรรูปนั้นได้ เข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อหาสิ่งของในช่วงบ่าย ช่วงค่ำ จะทำให้เขาระแวงว่า "ท่านซื้อข้าวปลาอาหารไป เพื่อฉันในเวลาวิกาลหรือเปล่า ?" เป็นต้น

    อีกส่วนหนึ่งที่กล่าวว่า สิกขาสาชีวะสะมาปันโน ก็คือถึงพร้อมด้วยสิกขา คือ ศีล และ อาชีวะ คือ การครองชีพ ในที่นี้ของพระเรา ถ้าจะกล่าวถึงก็ต้องกล่าวถึงปาริสุทธิศีล คือความบริสุทธิ์ของศีล อันเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ในความประพฤติปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ของตนไปด้วย ซึ่งมีอยู่ ๔ ประเภท ได้แก่

    ข้อที่ ๑ ปาฏิโมกขสังวรศีล ก็คือการสำรวมในศีลตามเพศภาวะของตน อย่างเช่นว่าฆราวาสทั่วไปก็สำรวมในศีล ๕ อุบาสกอุบาสิกาก็สำรวมในศีล ๘ สามเณรก็สำรวมในศีล ๑๐ พระภิกษุก็สำรวมในศีล ๒๒๗ เป็นต้น ก็คือ
    ไม่พยายามละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

    ข้อที่ ๒ คืออินทรียสังวรศีล ซึ่งเป็นส่วนที่กระผม/อาตมภาพ ในตอนแรกเห็นว่ายากที่สุด เพราะว่าเราจะต้องระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เมื่อถึงเวลาตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส และใจครุ่นคิด ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิด รัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นมาได้

    เชื่อว่าสำหรับท่านที่เป็นนักปฏิบัติ ส่วนหนึ่งก็จะเกิดความหนักอกหนักใจตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกกับท่านทั้งหลายว่า แค่ท่านพยายามสร้างสมาธิให้เกิด เอาเพียงระดับปฐมฌานละเอียดก็พอ ความแหลมคม ว่องไวของสติ กำลังในการหยุดยั้งของกำลังสมาธิ จะทำให้เราระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไว้ได้หมด ไม่ให้สิ่งไม่ดีไม่งาม ที่ก่อให้เกิด รัก โลภ โกรธ หลง เข้ามาสู่ใจของเราได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ข้อที่ ๓ คือ ก็คืออาชีวปาริสุทธิศีล ความบริสุทธิ์ของศีลในการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม อย่างเช่นว่าพระภิกษุสามเณรของเราก็คือ เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต ญาติโยมจะให้ภัตตาหารที่หยาบหรือว่าละเอียด หรือว่าประณีตไม่ประณีตอย่างไรก็ตาม เราก็รับมาและบริโภคเพื่อรักษาธาตุขันธ์นี้เอาไว้สำหรับปฏิบัติธรรม สำหรับช่วยสร้างความเจริญให้กับพระพุทธศาสนาเท่านั้น

    ตรงจุดนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ สั่งสอนพระภิกษุสามเณรทุกรูปภายในวัดท่าซุงเป็นประจำอยู่แล้ว ก็คือให้ทุกคนบิณฑบาตเป็นปกติ และพยายามที่จะพิจารณาในอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็คือเห็นว่าอาหารทุกอย่างมีพื้นฐานมาจากความสกปรก เมื่อฉันหรือว่ารับประทานเข้าไป ก็ก่อให้เกิดร่างกายที่สกปรกนี้ แต่ว่าเราต้องฝืนกินหรือว่าฉันเข้าไป เพื่อที่จะรักษาร่างกายนี้ไว้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น

    การที่พวกกระผม/อาตมภาพประพฤติปฏิบัติมาเป็นปกติ แต่เมื่อถึงเวลาอยู่ในสายตาคนอื่น อย่างเช่นว่าคุณนวลจันทร์ เพียรธรรม ประธานคณะกรรมการบริษัทเอ็นซีทัวร์ ซึ่งจัดการเดินทางไปต่างประเทศให้กระผม/อาตมภาพและคณะหลายครั้ง ถึงกับออกปากว่า "หลวงพ่อเล็กเป็นพระที่ฉันง่ายที่สุดในโลก"

    แล้วในที่สุด แค่ในการสำรวมในเรื่องของข้าวปลาอาหารแค่นี้ ก็ทำให้คุณนวลจันทร์เกิดความศรัทธา ปวารณาว่า ไม่ว่ากระผม/อาตมภาพและคณะจะเดินทางไปประเทศไหนในโลกก็ตาม จะขอตามไปเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกด้าน ต่อให้ต้องจ่ายค่าเดินทางเองก็ยินยอม..!

    ข้อสุดท้ายนี้ไม่ใช่แต่พระเท่านั้นที่จะปฏิบัติ หากแต่ญาติโยมก็ปฏิบัติได้ ก็คือข้อที่ ๔ ปัจจัยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาก่อนจะใช้ปัจจัย ๔ ถ้าหากว่าเป็นของพระ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชรักษาโรค แต่ว่าในส่วนของญาติโยมทั้งหลาย เราก็ต้องคิดถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าให้กระผม/อาตมภาพชี้ต่อญาติโยมทั้งหลายก็คือ ในเรื่องของการแต่งกายนั้น เชื่อว่าท่านทั้งหลายมีเสื้อผ้ามากมายเหลือเฟือแล้ว แต่มักจะบอกว่า "ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่" ก็เพราะว่าขาดการพิจารณาเสียก่อนว่า การนุ่งห่มนั้น หลัก ๆ เลยก็คือเพื่อป้องกันความละอาย เพื่อป้องกันความหนาว ความร้อน เพื่อป้องกัน เหลือบ ยุง ลม แดด เหล่านี้เป็นต้น

    ไม่ใช่ใส่ไปเพื่อไปอวดคนอื่นเขา ถ้าหากว่าเราสามารถลดความรู้สึกในการใส่เพื่อความสวยความงาม เพื่อไปอวดคนอื่นเขาลงได้ เราก็จะประหยัดในเรื่องของเครื่องนุ่งห่มได้มากเป็นพิเศษ เนื่องเพราะว่าถ้าเป็นของที่มียี่ห้อ ก็มักจะแพงเหลือเกิน..!

    เรื่องของอาหารก็เช่นกัน ถ้าหากว่าเราลดลงมาอยู่ในระดับที่ว่า พอที่จะบริโภคเพื่อยังร่างกายนี้ให้อยู่ได้ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสาะแสวงหาของแพง ๆ มารับประทาน เนื่องเพราะว่าไม่ว่าจะของแพงหรือของถูก ท้ายที่สุดก็กลายเป็นสิ่งปฏิกูลเช่นกัน..!

    เรื่องของที่อยู่อาศัยนั้น ท่านทั้งหลายทำให้แข็งแรงไปเลยทีเดียว เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำให้มากมายมหาศาล มีโยมปวารณาท่านหนึ่ง ไปเห็นบ้านไม้ประยุกต์ก็คือเรือนสุมาลี ที่บริเวณหมู่เรือนไทยประยุกต์ของวัดท่าขนุน แล้วก็ร่ำร้องว่า "กระผมอยากได้บ้านแบบนี้มานานมากแล้ว พระอาจารย์สร้างไปทั้งหมดเท่าไร ?"

    กระผม/อาตมภาพบอกว่า ถ้าว่ากันตามแบบของเขาก็ ๒ ล้าน ๔ แสนบาท แต่กระผม/อาตมภาพขอเพิ่มหลังคาคลุมบริเวณนอกชาน เพื่อป้องกันไม่ให้ไม้ผุ ด้วยเรื่องของน้ำ เรื่องของแดด แล้วก็หลังคาคลุมบริเวณบันไดไม้ด้วย รวมแล้วก็ราคา ๓ ล้านบาท ทำเอาโยมท่านนั้นเกือบจะเป็นลม เนื่องเพราะว่าท่านสร้างบ้านไป ๗๐ ล้านบาท..!

    กระผม/อาตมภาพเข้าไปดูการตกแต่งภายในของบ้านนั้นแล้ว ยังคิดว่าถ้าเป็นกระผม/อาตมภาพ สามารถประหยัดไปได้ ไม่หนี ๒๐ - ๓๐ ล้านบาท เนื่องเพราะว่าหลายอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ อย่างเช่นว่าบรรดาผ้าม่านลูกไม้แบบยุโรปต่าง ๆ ที่หรูหรามากจนเกินไป แล้วเราเองไม่สามารถที่จะดูแลได้ ถึงเวลาก็ต้องจ้างบริษัทนำไปซักแห้งให้ เหล่านี้เป็นต้น
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,692
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,555
    ค่าพลัง:
    +26,395
    ส่วนในเรื่องของยารักษาโรคนั้น ไม่สามารถที่จะประหยัดได้ เพราะว่าต้องรักษาโรคให้ตรงตามอาการ จึงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่กระผม/อาตมภาพจะแนะนำให้ญาติโยมทั้งหลายว่า ถ้าหากว่ารักษาโรคของเราให้บรรเทา หรือว่าหายได้ ต่อให้แพงหน่อยก็ต้องยินดีตามนั้น

    ท่านเจ้าคุณอธิการบดีรูปปัจจุบันได้กล่าวถึง หลวงพ่อเจ้าคุณนคร องค์อธิการบดีรูปที่ ๔ ว่า เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีวะสะมาปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระโคจะระสัมปันโน จึงกลายเป็นปูชนียบุคคลที่ชาว มจร. ทั้งหลายของเรารำลึกถึง และจัดการทำบุญให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

    โดยเฉพาะปีนี้ได้ทำบุญในห้องอเนกประสงค์พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. ซึ่งกระผม/อาตมภาพเป็นเจ้าภาพสร้างเอาไว้เอง และได้รับการใช้งานมากที่สุด ในบริเวณอาคารพระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี Ph.D.) ซึ่งเป็นอาคารหลักอาคารหนึ่ง ของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    ครั้นเมื่อถึงเวลา เสร็จจากพิธีการพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิการบดีรูปปัจจุบัน ก็ขออนุญาตไปรับภัตตาหารพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเมตตาพระราชทานให้แก่ชาว มจร. ทุกวัน ซึ่งตรงนี้เป็นมหากรุณาธิคุณที่มากล้นอย่างยิ่งสำหรับชาว มจร. ทุกคน ที่จะเทิดไว้เหนือเศียรเหนือเกล้าตลอดกาล

    กระผม/อาตมภาพเมื่อร่วมงานจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงได้เดินทางกลับสู่ที่พัก และทำการบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุน สำหรับท่านทั้งหลายจะได้รับฟังกันต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...