เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 มิถุนายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ วันนี้นอกจากเป็นประธานในการประชุมสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ และคณะกรรมการชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุนแล้ว

    กระผม/อาตมภาพยังฝ่าฝนไปร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพลุงช่วยเยีย เชิงผาสุวรรณ บิดาของครูแอน (นางสาวจรรยวรรธน์ เชิงผาสุวรรณ) ซึ่งเป็นคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ

    ลุงช่วยเยีย ต้องบอกว่าเป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงอย่างดียิ่ง ข้อมูล เรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงหลายต่อหลายเรื่อง ที่ได้รับการบันทึกโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ส่งเข้าไปกระทรวงวัฒนธรรม รับรองเนื้อหาโดยนายช่วยเยีย เชิงผาสุวรรณ

    ต้องบอกว่าในปัจจุบันนี้ บรรดาผู้รู้รุ่นเก่า ๆ ล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน คนรุ่นใหม่ ๆ ก็ไม่อยากที่จะรักษาวัฒนธรรมประเพณีเดิม ๆ ของชาติพันธุ์ตนเอง เพราะรู้สึกว่าล้าสมัย..น่าอาย บางทีก็โดนพรรคพวกเพื่อนฝูงล้อเลียนเอาในโรงเรียน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เนื่องเพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นมอญ พม่า กะเหรี่ยง ม้ง เย้า ลีซู แม้กระทั่งไทยอีสานของเรา ที่อยู่รวมกันในอำเภอทองผาภูมิอย่างมีความสุข แต่ละที่แต่ละทางรู้สึกว่าวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ จืดจางลงไปมาก

    ที่เห็นมีอยู่ก็พี่น้องมอญ กับพี่น้องไทยอีสาน ที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีได้เข้มข้นกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าทั้งสองฝ่ายล้วนแล้วแต่อยู่ในลักษณะพลัดบ้านพลัดเมืองมา พี่น้องชาวมอญนั้น มีทั้งที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย และมีทั้งที่โดนกวาดต้อนมา
    ซึ่งในยุคสมัยนั้นการทำศึกทำสงครามเป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ถ้าไม่อยากให้คนอื่นมาเบียดเบียนตัวเอง ก็ต้องแสดงแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์

    แล้วขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าชนะศึกสงคราม ข้าทาสบริวาร ตลอดจนกระทั่งทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็จะตกเป็นสินสงครามของชาตินั้น ๆ สร้างความมั่นคงเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ และทางทหารมากยิ่งขึ้น เพราะว่าข้าทาสต่าง ๆ ก็เอาไว้ใช้งาน โดยเฉพาะในส่วนของการทำไร่ทำนา รับใช้เจ้านาย ทรัพย์สินต่าง ๆ ก็เก็บเข้าคลัง เอาไว้ใช้จ่ายเวลาจำเป็น หรือว่าให้เป็นรางวัลแก่ทหารหาญฝ่ายตน เวลาออกศึกออกสงคราม
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    พี่น้องมอญเหตุที่ผูกพันกันเหนียวแน่นมาก ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้เป็นชาติที่มีประวัติความเป็นมายิ่งใหญ่มาก อาณาจักรสุธรรมวดี หรือว่าสะเทิมของมอญยิ่งใหญ่ไพศาล แต่น่าเสียดายมาก เพราะว่ายึดถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ไม่อยากรบ เพราะว่าต้องฆ่าฟันคนอื่น จึงต้องพ่ายแพ้ให้กับอาณาจักรพุกามของพม่าที่มารุกราน อาณาจักรสุธรรมวดี หรือสะเทิมจึงล่มสลายลง

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้ว่าชาติพันธุ์มอญเคยกลับมายิ่งใหญ่ แต่ก็โดนชาติพันธุ์พม่าชิงแผ่นดินคืนไปอีก ส่วนที่พลัดบ้านพลัดเมืองมา จะมีความรู้สึกว่า ถ้าตนเองไม่สามัคคีเหนียวแน่นกันไว้ ก็จะทำให้โดนเบียดเบียนอีก

    ดังนั้น..เราทั้งหลายจะเห็นว่า ไม่ว่าวัดวาอาราม หรือว่าหมู่บ้านมอญที่ไหนก็ตามที่มีงาน จะเป็นทางพุทธศาสนา หรือว่าตามประเพณีมอญ ก็จะมีพี่น้องชาวมอญ ไม่ว่าจะต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แม้กระทั่งต่างภาค เดินทางไปรวมกันในงานนั้น ๆ เป็นจำนวนมากมาย

    ส่วนพี่น้องไทยอีสานในทองผาภูมินั้น ต้องบอกว่าพลัดบ้านพลัดเมืองมาไกล หลัก ๆ เลยในทองผาภูมิของเราก็มีหมู่บ้านเขาพระอินทร์ หมู่บ้านภูเตย หมู่บ้านห้วยเสือ และหมู่บ้านทุ่งนางครวญ แต่ก็ไม่ใช่เป็นพี่น้องอีสานหมดทั้งหมู่บ้าน เพียงแต่ว่าครอบครัวไหนที่มาก่อน ทำมาหากินแล้วรู้สึกว่ามีความสุข มีความสะดวกสบาย ก็ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของตนเองมา แต่ว่าก็ปน ๆ กันอยู่กับคนพื้นเดิม โดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยง

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ตนเองพลัดถิ่นมา ถ้าไม่รักกันไม่สามัคคีกัน ก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ได้หรือเปล่า ? จึงทำให้ต้องรักใคร่สามัคคี และแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมไทยอีสานอย่างเด่นชัด

    ส่วนชาติพันธุ์อื่น ๆ นั้น พี่น้องกะเหรี่ยงแทบจะไม่คิดว่าตนเองเป็นคนกะเหรี่ยงแล้ว เพราะว่าแค่ที่มีหลักฐานชัดเจน ก็รับราชการเป็นกระทั่งเจ้าเมืองมาตั้งแต่ปลายอยุธยา กรุงธนบุรี มาจนถึงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระยาศรีสุวรรณคีรี (ภูวะโพ่) เจ้าเมืองสังขละบุรี

    เมื่อสืบเชื้อสายกันมาหลาย ๆ รุ่น ระยะเวลา ๒๐๐ กว่าปี ก็เลยทำให้พี่น้องกะเหรี่ยงรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไทย เกือบจะไม่มีอะไรที่แตกแยกจากคนไทยทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่ใช่ภาษาพูด หรือว่าวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างที่ยังยึดถืออยู่ กะเหรี่ยงกับไทยก็แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปแล้ว

    ดังนั้น..ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวเหมือนอย่างกับพี่น้องมอญ หรือว่าไทยอีสาน จึงไม่ค่อยจะมี เนื่องจากไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดน แต่คิดว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    ส่วนทางด้านพี่น้องม้ง เย้า ลีซู หรือที่คนไทยเรียกว่าลีซอ มีจำนวนน้อย พี่น้องม้งถือว่ามากที่สุด มี ๒๙ ครอบครัว จำนวนร้อยกว่าคน และยังนิยมลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ตามประสาผู้ที่รับขนบธรรมเนียมมาจากประเทศจีนเต็ม ๆ ก็คาดว่าอีกไม่นานน่าจะแตกลูกแตกหลานมากขึ้นไปอีก

    ส่วนพี่น้องเย้า หรือชื่อที่เรียกกันในหมู่ของตนเองก็คือ เมี่ยน หรืออิ้วเมี่ยน ลีซอหรือที่เรียกว่าลีซู อีก้อหรือที่เรียกว่าอาข่า คนทั้งหลายเหล่านี้จริง ๆ แล้ว แค่มาอาศัยทำมาหากินตามช่องทางที่ตนเองมองเห็น โดยเฉพาะการเก็บผลปาล์มมาทำลูกชิด ที่คนไทยไม่ทำกันเพราะว่าคันมาก

    แต่ว่าพี่น้องเหล่านี้มีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ อย่างเช่นว่าใช้
    ฝุ่นดินจากจอมปลวกบ้าง ใช้น้ำคั้นใบตำลึงบ้าง ถึงเวลาเก็บลูกชิดเสร็จ ก็รีบถูตัวเองเป็นการใหญ่ ไม่ต้องเกาจนเลือดเข้าเลือดออกเหมือนกับคนไทย ก็เลยทำให้เขามีช่องทางทำกิน เพราะว่าเป็นงานที่คนไทยไม่เอา ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ชักชวนพี่น้องของตนเองมา ก็เลยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

    แต่ระยะหลังพอมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติเขาช้างเผือก ตลอดจนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ก็กลายเป็นว่าไม่มีที่ทำกิน จึงต้องเปลี่ยนอาชีพมาปลูกผลไม้เมืองหนาวกัน

    ในปัจจุบันนี้ ผลไม้เมืองหนาวจากทางด้านชะแลที่เด่นชัดที่สุดก็คืออะโวคาโดกับสตอเบอรี่ ส่วนอื่น ๆ ที่เห็นทำกันอยู่ อย่างเช่นว่ากาแฟ ซึ่งค่อนข้างจะมีชื่อเสียงมาก และบรรดาพืชผักต่าง ๆ โดยเฉพาะฟักแม้ว หรือที่เรียกว่ามะระหวาน ฟักทอง มะละกอ หรือแม้กระทั่งในส่วนของผลไม้บางอย่างที่คนไทยเราเริ่มนิยม ก็คือทุเรียน ลองกอง ตลอดจนกระทั่งเงาะทองผาภูมิ ก็ทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,245
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,604
    ค่าพลัง:
    +26,455
    ในส่วนของพี่น้องพม่าก็ยึดกิจการเกี่ยวกับการค้าขาย ทำให้บรรดาร้านต่าง ๆ ในทองผาภูมิ ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่มอญก็เป็นพม่า คนไทยที่เคยทำกิจการอยู่ สู้ความขยันและอดทนของคนเหล่านี้ไม่ได้ ก็เริ่มถอยออกไป

    ดังนั้น..เราจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการขยันทำกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพวกเราเอาไว้ ถามว่าสอนไว้ในที่ไหน ? ก็คือในการละเว้นจากอบายมุข แล้วให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม คือความขยันหมั่นเพียร ทำให้พี่น้องมอญ พม่า ตลอดจนกระทั่งชาติพันธุ์เหล่านี้ ยืนหยัดมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ และลูกหลานก็เรียนหนังสือไทย ที่รับทุนจากวัดท่าขนุน แต่ละปีเป็นร้อย ๆ รายที่ไม่มีนามสกุล หรือถ้ามีก็เป็นแซ่ เขาทั้งหลายเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ กลืนเป็นคนไทยมากขึ้นไปเรื่อย

    แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า ไม่สามารถยืนหยัดรักษาวิถีวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ให้มั่นคงได้ แต่ว่าในเมื่อเป็นคนไทยแล้ว ก็ถือว่าเราเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือน ๆ กัน ทำงานเสียภาษีให้กับรัฐ ท้ายที่สุดก็กลายเป็นคนไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่สืบเชื้อสายขึ้นไปแล้ว จะมีปู่ย่าตาทวดของตนเองเป็นชาติพันธุ์ไหน ก็แล้วแต่ครอบครัวนั้น ๆ

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...