เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 ธันวาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ภารกิจสำคัญของกระผม/อาตมภาพในวันนี้ก็คือ การไปสวดถอนเขตติจีวราวิปปวาสและพัทธสีมา ให้กับวัดวังผาตาด หมู่ที่ ๘ ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วจะไปสวดผูกพัทธสีมาอีกทีในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗

    คราวนี้หลายท่านอาจจะไม่ชัดเจน ว่าทำไมต้องมีการสวดถอนเขตอยู่โดยปราศจากไตรจีวร และการสวดถอนสีมา ? เนื่องเพราะว่ามีพระวินัยที่ระบุเอาไว้ว่า ภิกษุอยู่โดยปราศจากผ้าไตรจีวร แม้เพียงคืนหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ก็คือต่อให้ผ้ามี ๒ ผืน แต่ถ้าไม่ครบ ๓ ก็ถือว่าโดนอาบัติ ยกเว้นอยู่อย่างเดียวก็คือได้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสแล้ว จะมีอานิสงส์
    ไปไหนไม่ต้องนำผ้าไตรไปครบสำรับ แต่ว่าอานิสงส์มีแค่เดือนเดียว ก็คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ ยกเว้นว่าท่านทั้งหลายจะได้รับกฐิน ก็จะขยายอานิสงส์ออกไปอีก ๔ เดือน ก็คือจากแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ เดิม ก็ขยายไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

    แต่คราวนี้การที่พระภิกษุสงฆ์ ถ้าหากว่าอยู่ประจำที่ อย่างเช่นวัดวาอารามในปัจจุบันนี้ แล้วเจ็บไข้ได้ป่วย อาจจะต้องอยู่โดยปราศจากผ้าไตรจีวร เขาจึงกำหนดให้เขตพื้นที่วัด เป็นเขตที่อยู่โดยปราศจากผ้าไตรจีวรได้ แต่ห้ามออกนอกเขตนั้น ก็แปลว่า ถ้าหากว่า
    ไม่ได้รับอานิสงส์การจำพรรษา หรือว่าอานิสงส์กฐิน ก้าวพ้นวัดไปก็ต้องแบกผ้าไตรไปครบสำรับ

    ดังนั้น..ที่เขาขึ้นว๋า
    "สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ โย โส สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส สมฺมโต ฯลฯ" ก็คือการสวดถอนเขตที่ไม่อยู่โดยปราศจากไตรจีวร ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใหม่เลยทั้งผืนก็เป็นได้

    อย่างเช่นว่าของวัดท่าขนุนเรา พื้นที่ทั้งหมดอยู่ฝั่งนี้ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานวิสุงคามสีมาให้ แต่ว่าอยู่ฝั่งโน้น ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตที่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากผ้าไตรจีวร เราก็ต้องสวดสมมติเขตนั้น เพื่อที่จะอยู่โดยปราศจากไตรจีวรได้ ฟังแล้วงง ๆ ไหม ? ก็คือขั้นตอนแรก ถ้าพื้นที่นั้นไม่ใช่พื้นที่วัดแต่ดั้งเดิม ก็ถือว่าเป็นเขตที่เราไม่สามารถจะอยู่โดยปราศจากไตรจีวรได้ ไม่อย่างนั้นจะโดนอาบัติ ก็ต้องสวดสมมติเพื่อให้อยู่ได้ แล้วหลังจากนั้น ก็มีการสวดถอนสีมา แล้วค่อยสวดผูกใหม่

    เหตุที่สวดถอนสีมานั้นก็เพราะว่า
    เราไม่รู้ว่าพื้นที่นั้นกี่ร้อยกี่พันปีที่แล้วมา เป็นเขตสีมาในพระพุทธศาสนาหรือเปล่า ? เนื่องเพราะว่าการสวดผูกพัทธสีมานั้น ก็คือการระบุชัดว่าเขตนั้น สงฆ์สามารถทำสังฆกรรมได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้สวดถอน จะผ่านไปกี่หมื่นกี่แสนปี เขตนั้นก็ถือว่าเป็นสีมาอยู่อย่างนั้น ท่านใช้คำว่า การสมมติสีมานั้น กำหนดเขตลึกลงไปถึงน้ำรองแผ่นดิน..! มุดดินลงไปหลายกิโลเมตรเลยนะ..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    คราวนี้ปัญหาจะอยู่ตรงที่ว่า ถ้าภิกษุทำสังฆกรรมอยู่ แล้วมีอนุปสัมบัน คือบุคคลที่ศีลน้อยกว่า เข้ามาอยู่ในสังฆกรรมนั้น สังฆกรรมนั้นจะเสียหมด ทำไปก็ไม่เกิดผล ถ้าบวชพระก็ไม่ใช่พระ ถ้าหากว่าเราไม่มีการสวดถอนก่อน สมมติว่าพื้นที่เดิมเขาอาจจะสวดไว้เมื่อพันปีที่แล้ว เป็นแนวยาวตามขวาง

    แล้ววิสุงคามสีมาที่ในหลวงทรงพระราชทานให้ในปัจจุบันเป็นแนวตั้ง ถ้าเราทำสังฆกรรมอยู่ตรงแนวตั้งนี้ แล้วมีฆราวาสอยู่ในแนวนอน หรือมีสามเณรอยู่ในแนวนอน ก็บรรลัยเลย เพราะว่าเป็นสีมาสังกระ คือคาบเกี่ยวกัน ของใหม่คาบเกี่ยวกับของเก่า ในเมื่อสีมาซ้อนทับกันอยู่ ก็แปลว่าเขตทั้งแนวตั้งและแนวนอนนั้นคือสีมาทั้งหมด

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าเขตใหม่ไม่มีอนุปสัมบันอยู่ แต่เขตเก่าดันมีนั่งอยู่กันเพียบเลย ก็แปลว่าสังฆกรรมนั้นเสีย บวชพระก็ไม่เป็นพระ สวดอัพภานก็คืนความเป็นสงฆ์ให้ไม่ได้ จึงต้องมีการสวดถอนให้แน่นอนเสียก่อนว่า บริเวณนั้นไม่คาบเกี่ยวกับสีมาใด ถอนทิ้งไปเลย ถามว่าเอาอะไรมาถอน ? ก็คือใช้อำนาจของคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ให้เอาไว้ อย่าลืมว่า โย โส สังเฆนะ สงฆ์ทั้งหลาย พอสวดเสร็จแล้วท่านสาธุ ก็เป็นอันว่าเห็นด้วยทั้งหมด

    ดังนั้น..ในเรื่องพวกนี้ ถ้าหากว่าเราอยู่นานไป จะช้าจะเร็ว เราก็ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ จะต้องมีการสวดถอน แล้วก็สวดสมมติ หรือที่เขาเรียกว่า "สวดญัติ" กันใหม่ คำว่า "ญัต" ในที่นี้หมายถึง "ญัตติ" ก็คือข้อที่ตั้งขึ้นมา ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่าจะทำอะไร ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ประกาศแล้วถือว่าตามนั้น ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่แล้วเขาจะให้ระดับเจ้าคณะอำเภอหรือว่ารองเจ้าคณะอำเภอ เป็นคู่สวดในการสวดถอน หรือว่าสวดสมมติพัทธสีมา แต่พวกเราที่เป็นคู่สวดแล้ว ถ้าสวดเอาไว้ได้ก็จะดี เพราะไม่รู้ว่า "ความเฮง" จะมาถึงตัวเมื่อไร..!?

    เดี๋ยวจะเหมือนกระผม/อาตมภาพ นิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่ามะขาม - พระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทโธ ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะขาม อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นพระอุปัชฌาย์ กราบเรียนท่านไปแล้วว่า "ให้นำคู่สวดมาด้วย" แต่ปรากฏว่าท่านไม่ได้นำคู่สวดมา ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็หันมาถามว่า "อาจารย์เล็ก สวดได้ไหม ?" กราบเรียนว่า "ได้ครับ แต่ว่าผมไม่มีตราตั้งคู่สวด" ท่านบอกว่า "ไม่เป็นไร สวดไปก่อน" ในเมื่อบุคคลที่เป็นผู้แต่งตั้งอนุญาตให้สวดก่อน กระผม/อาตมภาพก็ต้องสวด เท่ากับว่าสอบการสวดกรรมวาจาอุปสมบทต่อหน้าเจ้าคณะจังหวัด พอสวดเสร็จ ท่านเห็นว่ามีความคล่องตัวแล้ว ท่านก็ออกตราตั้งให้เลย..!

    คราวนี้ถ้าหากว่าพวกเราสวดเป็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสวดนาค สวดอัพภาน สวดกฐิน หรือว่าสวดถอน สวดญัตพัทธสีมา ก็ถือว่าลอยตัว ไปงานไหนก็ไม่ต้องหวาดระแวงว่าเขาจะเรียกเราหรือเปล่า ? เพราะว่าถ้ายิ่งอยู่นานไป อาวุโสยิ่งมาก ถึงเวลาเขาทั้งหลายเหล่านั้นก็จะให้เกียรติโดยอัตโนมัติ แต่ถึงเวลาแล้ว ผู้ที่อาวุโสพรรษามาก แต่กลับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็ขายหน้าคนอื่นเขา..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,704
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,556
    ค่าพลัง:
    +26,395
    โดยเฉพาะในเรื่องของการสวดนาค วันที่กระผม/อาตมภาพบวชก็สวดได้แล้ว..! บวชวันนั้นก็สวดได้วันนั้นเลย เพราะว่าเป็นการบวชหมู่ ๓๖ รูป รวมแล้ว ๑๒ ชุด ชุดหนึ่งคู่สวดก็ต้องสวดถึง ๓ รอบ มีตั้งญัตติ ๑ รอบ สวดอนุสาวนา ๓ รอบ ก็แปลว่าต้องสวดอย่างน้อย ๓๖ รอบ..! แล้วอย่างที่ได้เรียนท่านทั้งหลายเอาไว้ว่า กระผม/อาตมภาพฟังอะไรครั้งเดียว ก็จำได้จะหมดอยู่แล้ว แล้วเขาสวดให้ฟังตั้ง ๓๖ รอบ ก็แปลว่าถ้าไม่เห็นว่าเป็นพระใหม่ ให้สวดนาควันนั้นก็สวดได้เลย จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจะต้องพึงสังวรเอาไว้ เพราะว่าบางสิ่งบางอย่างนั้น ถ้าอยู่นานไป ต่อให้ไม่ต้องการ ก็จะมี "ความเฮง" วิ่งมาหาเอง..!

    ตอนแรก กระผม/อาตมภาพก็เห็นว่าตัวเองอยู่ในฐานะเจ้าภาพ จึงไม่ควรที่จะไปสวด ให้บรรดาเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอจากอำเภออื่น ๆ ท่านทำหน้าที่ แต่ปรากฏว่าวันนี้อาจจะติดภารกิจกันมาก ท่านจึงมากันน้อย ก็เลยต้องลงไปสวดกับเขาด้วย และถ้าหากว่าสวดไม่เป็นก็แปลว่า "หน้าแตก" เอง แต่ว่าโชคดีที่สวดเป็น

    แต่คู่สวด ก็คือรองเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี ท่านบอกว่าไม่เคยสวดมาก่อน ก็เลยติดขัดอยู่เล็กน้อย แล้วพระเดชพระคุณพระราชวิสุทธาภรณ์ (ทองดำ อิฏฺฐาสโภ ป.ธ.๖) รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่านก็คอยทวนให้อยู่ จึงสามารถที่จะลากถูลู่ถูกับไปได้ ๒ รอบ เพราะว่าการสวดถอนพัทธสีมางานนี้ เราสวดกันถึง ๘ รอบ กว่าที่จะครบทั้งพื้นที่

    ตั้งแต่กระผม/อาตมภาพบวชมาจนบัดนี้ มีครั้งเดียวที่การสวด ๓ รอบก็ครบพื้นที่เลย ก็คือการสวดที่วัดทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยท่านพระครูวิธานธรรมนาถ ก็เพื่อนฝูงกันนี่แหละ ท่านนิมนต์พระ ๗๐๐ รูป ก็ถือว่ามีสตางค์จ่าย สะดวกดีด้วย เดิน ๓ รอบจบเลย เพราะว่าของเราวันนี้ก็มีพระแค่ร้อยกว่ารูปเท่านั้น จึงต้องวนถึง ๘ รอบ ถ้าเรามี ๗๐๐ รูป ๒ รอบก็ครบเลย เพราะว่าวันนี้เราสวดกันถึง ๘ รอบ..!

    ท่านใดที่พรรษาพ้น ๕ แล้ว สอบคู่สวดได้แล้ว ให้ซักซ้อมสวดเอาไว้บ้าง หรือท่านที่จะสอบคู่สวด ถ้าหากว่าสวดนาคได้แล้ว ก็เตรียมสวดกฐิน เตรียมสวดอัพภาน หรือว่าสวดถอน สวดญัตสีมาเอาไว้ด้วย ของพวกนี้ถ้าเป็นแล้ว เราทวนเล็กน้อยก็จะมีความคล่องตัว ถ้าหากว่าไม่เป็น แล้วไปเริ่มตอนอายุมาก บางทีความจำก็ไม่ค่อยจะเอาด้วยแล้ว

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...