การปฏิบัติให้ได้ผล ต้อง “ไม่อยาก” แต่ สักแต่ว่าทำไป

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 9 พฤษภาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,732
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    EA27C2B6-9FB0-4CDC-8030-285FCF7DF7FD.jpeg

    บุคคลที่ปฏิบัติธรรมมักจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านแนะนำอยู่เสมอว่า ให้รักษากำลังใจให้จดจ่อต่อเนื่อง ตามกันทุกลมหายใจเข้าออก แต่หลายท่านก็อาจจะลืมตรงนี้ไป เผลอสติ..ปล่อยให้กิเลสมีกำลังเหนือกว่า แล้วถึงเวลาก็เกิดอาการจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก แล้วแต่ว่าจะเรียกกันแบบไหน

    แต่ว่าเมื่ออาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ท่านทั้งหลายที่เคยสัมผัสกับความสุขสงบเยือกเย็นจากกำลังของสมาธิ ก็เพียรพยายามที่จะกลับเข้าสู่สมาธิในระดับเดิมอีก แต่ยิ่งตะเกียกตะกายพากเพียรเท่าไรก็ยิ่งห่างไกลเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ท่านทั้งหลายไปกระทำด้วยความอยากเสียแล้ว

    ก่อนหน้านี้เราอาจจะบำเพ็ญภาวนา ตั้งจิตกระทำไปโดยไม่ได้คิดจะหวังผล แต่ว่าการที่เราปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องแปลก ถ้าเราอยาก มักจะไม่ได้ หมดอยากเมื่อไรก็มักจะได้ตอนนั้น ดังนั้น..ท่านที่จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก เมื่อถึงเวลา พยายามที่จะประพฤติปฏิบัติโดยตั้งใจจะเอาให้ดีเหมือนเดิม ก็มักจะไม่สามารถที่จะดีเหมือนเดิมได้

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านไปทำด้วยความอยาก ในเมื่อเอากิเลสนำหน้า เอาตัณหานำทาง ท่านทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกำลังใจในระดับเดิมได้อีก จนกระทั่งมีครูบาอาจารย์หลายท่านถึงขนาดบอกว่า ถ้าท่านทั้งหลายเคยทำความดีได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว กำลังความดีลดหายไป ท่านพยายามจะทำใหม่เท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะกระทำได้อย่างแน่นอน ซึ่งความจริงครูบาอาจารย์ท่านนี้ว่ากล่าวตามประสบการณ์ของท่านเอง

    ความจริงแล้วการที่เราจะทำให้กำลังใจกลับไปสู่ในระดับเดิมที่ รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้ มีความสุข มีความเยือกเย็นเหมือนเดิมนั้น ง่ายที่สุดก็คือให้ตั้งกำลังใจอยู่ว่า เรามีหน้าที่ปฏิบัติภาวนา ส่วนจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน ถ้าท่านทำกำลังใจอย่างนี้ได้ โอกาสที่จะกลับคืนไปสู่ความดีในระดับเดิมนั้นจะเป็นไปโดยง่ายมาก

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านทั้งหลายเข้าถึงอุเบกขารมณ์ เพราะว่ากำลังของอัปปนาสมาธิทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปนั้น จะมีเอกัคตารมณ์ คืออารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อแยกแยะจริง ๆ แล้วจะเห็นว่า เป็นเอกัคตาคือความเป็นหนึ่ง กับอุเบกขาคือความปล่อยวาง

    ดังนั้น..ถ้าท่านไม่สามารถที่จะปล่อยวางได้ โอกาสที่ท่านจะกลับเข้าไปสู่กำลังใจระดับเดิมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...